อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต

โรคไต เป็นแล้วสามารถดีขึ้นได้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรคไตดีขึ้น คือ “อาหาร” การกินของเราในแต่ละวัน เพราะถ้าเราควบคุมอาหารได้ดี จะช่วยลดภาระการทำงานของไต ให้ไม่ต้องทำงานหนักมากเกินไป

เป็นไตแล้วอย่าเพิ่งเฉยเรื่อง อาหาร เด็ดขาด อย่าคิดว่า เราเป็นแค่ระยะ 2 หรือระยะ 3 ยังอีกยาวไกลกว่าจะฟอกไต ขอบอกไว้ตรงนี้เลยค่ะ ว่า ถ้าคุณประมาทเรื่องอาหารในวันนี้ เท่ากับคุณเร่งระยะการฟอกไตให้ไวขึ้นกว่าเดิม 3-4 เท่าค่ะ

วันนี้เรามาดูกันว่า อาหารที่ดีสำหรับผู้ป่วยโรคไต ไตเสื่อม ไตเรื้อรัง มีอะไรบ้าง ??

แม้ว่า เราจะเป็นโรคไต และต้องควบคุมอาหาร เราก็ยังคงต้องได้รับสารอาหารครบถ้วนค่ะ

โปรตีน แนะนำรับประทานเป็น โปรตีนที่ดี (คือ โปรตีนที่เมื่อร่างกายย่อยแล้ว เกิดของเสียน้อย) เช่น เนื้อปลา ไข่ขาว เป็นต้น เนื้อปลา เน้นเป็นปลาเนื้อขาว ไม่ปรุงรส ไม่ผ่านวิธีการถนอมอาหารใดๆ เช่น ตากแห้ง ดองเค็ม หรือปลากระป๋อง การปรุงอาหารเน้นสดใหม่ และใช้วิธีต้ม ลวก นึ่ง (ทอดได้บ้าง นานๆครั้งค่ะ) โปรตีนอีกชนิด คือ นม ผู้ป่วยไตห้ามทานนม และผลิตภัณฑ์จากนม เนื่องจากมีฟอสฟอรัสสูงค่ะ
หลักการจำ คือ “ปลาเนื้อขาว ไข่ขาว ไม่ปรุงรส ไม่นม”

คาร์โบไฮเดรต เรียกภาษาเราๆ ว่า อาหารจำพวกแป้ง นั่นเอง เน้นแป้งที่ผ่านการคัดสีเรียบร้อยแล้ว เช่น ข้าวขาว ค่ะ อ่านไม่ผิดค่ะ ข้าวขาว หลายๆคน ชอบถามว่า ข้าวกล้อง ข้าวสีนิล ข้าวซ้อมมือไม่ดีเหรอ ประโยชน์มากกว่านะ นั่นคือ สำหรับคนที่ไตทำงานปกติค่ะ แต่สำหรับผู้ป่วยโรคไต ต้องควบคุมปริมาณวิตามิน และเกลือแร่ ในปริมาณที่จำกัด จึงแนะนำให้รับประทาน เป็นข้าวสวย ข้าวขาว ปกติค่ะ ถ้าเบื่อข้าว สามารถทานเส้นเซี่ยงไฮ้ เส้นก๊วยจั๊บ เส้นขนมจีน แทนได้บ้างค่ะ (แก้เบื่อ) ปริมาณที่แนะนำ มื้อละ 1 ทัพพี (ห้ามโกงใช้ทัพพีใหญ่นะคะ)
หลักการจำ คือ “ข้าวขาว 1 ทัพพี”

ผัก และกากใย หมวดผักรายละเอียดค่อนข้างเยอะค่ะ เพราะเราต้องดูกันลึกไปถึงโพแทสเซียม และฟอสฟอรัสในผักนั้นๆด้วย เราควรเลือกรับประทานผัก ที่มีปริมาณโพแทสเซียม และฟอสฟอรัสปานกลาง และต่ำค่ะ
มาดูกันว่าผักอะไรบ้างที่มีโพแทสเซียม และฟอสฟอรัสสูง ปานกลางหรือต่ำกันค่ะ
ผักที่มีโพแทสเซียมสูง ควรงด ได้แก่ ยอดขี้เหล็ก แขนงกะหล่ำ ผักหวาน ฟักทอง ยอดฟักทอง หัวปลี ยอดกระถิน กะหล่ำดอก ใบกุยช่าย คะน้า ขึ้นฉ่าย บร็อกโคลี่ แครอท เห็ดตับเต่า เห็ดฟาง เห็ดหอมสด ผักกระเฉด ผักกาดหอม ผักกวางตุ้ง มะเขือพวง มะเขือเปราะ มะเขือเทศ ปวยเล้ง มันฝรั่ง มันเทศ ธัญพืช ถั่วต่างๆ เม็ดทานตะวัน กาแฟ
ผักที่มีโพแทสเซียมปานกลาง ได้แก่ เห็ดนางฟ้า แตงกวา ฟักเขียว พริกฝรั่ง (พริกหวาน) ผักกาดขาว มะเขือเทศสีดา ถั่วฝักยาว ผักบุ้ง ถั่วงอก
ผักที่มีโพแทสเซียมต่ำ ได้แก่ กะหล่ำปลี บวบเหลี่ยม ถั่วพู หอมหัวใหญ่ น้ำเต้า ถั่วลันเตา มะเขือยาว เห็ดหูหนู
หลักการจำง่ายๆ คือ “เน้นกินผักสีอ่อน”

Open

Scroll Up